จากประสบการณ์ทำงานกว่า 30 ปี คลุกคลีรู้ปัญหาของคนไข้ และใช้เครื่องมือแพทย์มาแล้วหลากหลายชนิด ทำให้คุณหมอจากแผนกศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลปัตตานี เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาและประดิษฐ์อุปกรณ์การแพทย์ขึ้นใช้เอง เพื่อลดข้อจำกัดในการใช้งาน ลดความเสี่ยงของคนไข้และลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
ล่าสุดผลงาน “เครื่องมือยึดจับกระดูกจากภายนอกชนิดยืดหยุ่น” ของนายแพทย์อนุชิต จางไววิทย์ จากแผนกศัลยกรรม ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลปัตตานี คว้ารางวัลระดับดีเด่น รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2554 สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ของสภาวิจัยแห่งชาติ
นายแพทย์อนุชิต บอกถึงที่มาของผลงานประดิษฐที่เรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการแพทย์ชิ้นนี้ว่า ในแต่ละปีมีผู้ประสบอุบัติเหตุจากกระดูกหน้าแข้งหักมากกว่า 10,000 ราย ในการรักษาส่วนใหญ่มักใช้การผ่าตัดดามด้วยแผ่นเหล็กและสกรู ซึ่งนอกจากจะมีแผลยางจากการผ่าตัดในการดามเหล็กและเอาเหล็กออกแล้ว ยังเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน ทำให้ต้องผ่าตัดหลายครั้งได้ ตนจึงพัฒนา”เครื่องมือยึดจับกระดูกจากภายนอกชนิดยืดหยุ่น” ขึ้น เพื่อแก้ปัญหาในการแพทย์และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาภาวะกระดูกหน้าแข้งหัก
ตัวเครื่องมือออกแบบเป็น 3 ส่วน มีท่อหลัก 3 ท่อนและ ส่วนข้อต่อและวงแหวนรัด คุณสมบัติพิเศษ คือน้ำหนักเบา สวยงาม ยืดหยุ่นแต่มีความแข็งแรงเพียงพอในการยึดตรึงกระดูกให้คงที่ตลอดการรักษา สามารถปรับแต่งมุมกระดูกนอกห้องผ่าตัด รวมทั้งปรับสั้น–ยาว ปรับหมุนได้ ลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการผ่าตัดแบบเดิม ๆ ตัวเครื่องมือมีลักษณะโปรงแสงเอกซเรย์ ทำให้การติดตามผลการรักษาทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อกระดูกสมานกันแล้วสามารถถอดเครื่องมือดังกล่าวได้อย่างง่ายดาย
คุณหมอนักประดิษฐ์ บอกว่า ผลงานนี้ทำเสร็จตั้งแต่ปี 2552 ผ่านการตรวจสอบการใช้งานตามมาตรฐานของอุปกรณ์การแพทย์ ปัจจุบันใช้รักษาคนไข้ในโรงพยาบาลปัตตานีแล้วกว่า 50 ราย ซึ่งผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจทั้งแพทย์และผู้ป่วย สามารถลดภาวะเครียดของผู้ป่วย และลดระยะเวลาในการรักษาลง
สำหรับต้นทุนการผลิต นายแพทย์อนุชิต บอกว่า ต่ำมากเพียงหนึ่งพันบาท ขณะที่อุปกรณ์ยึดจับกระดูกภายนอกที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีราคาหลักแสน และไม่ยืดหยุ่นได้เท่านี้
อุปกรณ์นี้สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่หลาย ๆ ครั้ง ลดปัญหาค่ามัดจำเครื่องมือและยังสามารถลดจำนวนครั้งของผู้ป่วยในการเข้ารักษาในโรงพยาบาลอีกด้วย
นายแพทย์อนุชิต บอกอีกว่า การที่สภาวิจัยแห่งชาติให้รางวัลในครั้งนี้ ถือเป็นกำลังใจและผลักดันให้เกิดการใช้งานอุปกรณ์ฝีมือคนไทยมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ช่วยรัฐประหยัดงบประมาณ ซึ่งตนเองพร้อมที่จะถ่ายทอดผลงานสู่ผู้ที่สนใจต่อไป
ชมผลงานประดิษฐ์คิดค้นนี้ได้ที่งาน “วันนักประดิษฐ์”ประจำปี 2554 ระหว่างวันที่ 2-5 ก.พ.นี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น