ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554

ม.บูฯเร่งเครื่องปั้นดิจิทัลฮับตะวันออก

ม.บูรพาเดินหน้าใช้ไอทีหนุนโปรเจ็คใหญ่ ปั้นมหาวิทยาลัยเป็นดิจิทัลฮับภาคตะวันออกใน 5 ปี หวังเพิ่มโอกาสเข้าถึงเน็ตเร็วสูง



นายวิโรจน์  เรืองประเทืองสุข รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยกำลังเร่งพัฒนาศักยภาพระบบไอที โดยการสร้างโครงข่ายอีเธอร์เน็ตความเร็วสูงระดับกิกะบิต รองรับการให้บริการบรอดแบนด์ และอีเลิร์นนิ่ง สำหรับนิสิต บุคลากร ตลอดจนสถาบันการศึกษาในภูมิภาค โดยตั้งเป้าขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในภาคตะวันออกโดยเร็วที่สุด
 นายเสรี  ชิโนดม ผู้บริหารฝ่ายไอที(ซีไอโอ)  กล่าวว่า หลังจากได้รับเลือกให้เป็นสถาบันแม่ข่าย มหาวิทยาลัยเร่งเสริมแกร่งระบบอินฟราสตักเจอร์ และพัฒนาระบบโครงข่ายต่อเนื่อง ล่าสุด ติดตั้งโซลูชั่น “กิกะบิต คอนเวอร์เจ้นท์ คอมมูนิเคชั่น” จากบริษัทอาคาเทล ลูเซ่น รองรับผู้ใช้งานภายใน 43,000 คน พร้อมเตรียมขยายโครงข่ายต่อยอดการให้บริการไปยังสถาบันการศึกษาภายนอกทุกระดับ ตั้งแต่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียนอาชีวศึกษา และสถาบันอุดมศึกษา รวมอีกกว่า 3,600 แห่ง
 เขากล่าวด้วยว่า แต่ละปีจะใช้งบประมาณเพื่อพัฒนาเสถียรภาพ และบำรุงโครงข่ายประมาณ 30-50 ล้านบาท พร้อมกับพัฒนาบุคลากรรองรับการขยายงานควบคู่กันไป การผลักดันให้มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางจะช่วยให้เกิดการต่อยอดด้านโอกาสการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทั้งแบบมีสายและไร้สายซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทางการศึกษาต่อๆ ไป
 พร้อมระบุ บทบาทของมหาวิทยาลัยคือการเป็นฐานข้อมูลแห่งภาคตะวันออก ภายใน 5 ปีข้างหน้าโครงการจะต้องเห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน พร้อมรองรับนโยบายเกี่ยวเนื่องกับการศึกษาของการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
 นางสุรางคนา ธรรมลิขิต ผู้อำนวยการสำนักคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า ภายในปี 2556 จะเร่งพัฒนาระบบให้มีความเร็วเพิ่มขึ้นอีก จากปัจจุบันที่มีความเร็วระดับ 1 กิกะบิตเป็น 10 กิกะบิต พร้อมกับพัฒนารูปแบบการให้บริการภายในมหาวิทยาลัยเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์(อีเซอร์วิส) เต็มรูปแบบ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้ใช้งาน สานพันธกิจการเป็นองค์กรอัจฉริยะภายในปี 2563
 “5 ประเด็นหลักที่เราตั้งเป็นโมเดลไว้คือ 1.พัฒนาทรัพยากรบุคคล 2.เร่งพัฒนาอินฟราสตรักเจอร์ให้ครอบคลุมทุกการใช้งาน 3.ทำอีเซอร์วิสภายในมหาวิทยาลัยให้แล้วเสร็จ 4.จับมือพันธมิตรภายนอกร่วมกันพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และ 5.สร้างผลงานวิจัย โดยภายใน 10 ปีนี้ต้องมีผลงานนวัตกรรมด้านไอทีที่โดดเด่นออกมาให้ได้ ”
 นอกจากนี้ยังได้เริ่มทำโครงการต้นแบบ คลาวด์ คอมพิวติ้งภายในองค์กร เพื่อลดต้นทุนการใช้ทรัพยากรให้ได้มากที่สุดและกำลังร่วมมือกับบริษัทแอ๊ปเปิ้ลพัฒนาโมบายแอพพลิเคชันบนไอโฟนควบคู่แผนงานอีเซอร์วิสด้วย

เครื่องยึดกระดูก ช่วยคนขาหัก

จากประสบการณ์ทำงานกว่า 30 ปี คลุกคลีรู้ปัญหาของคนไข้ และใช้เครื่องมือแพทย์มาแล้วหลากหลายชนิด ทำให้คุณหมอจากแผนกศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลปัตตานี เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาและประดิษฐ์อุปกรณ์การแพทย์ขึ้นใช้เอง เพื่อลดข้อจำกัดในการใช้งาน ลดความเสี่ยงของคนไข้และลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

ล่าสุดผลงาน “เครื่องมือยึดจับกระดูกจากภายนอกชนิดยืดหยุ่น” ของนายแพทย์อนุชิต จางไววิทย์ จากแผนกศัลยกรรม ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลปัตตานี คว้ารางวัลระดับดีเด่น รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2554 สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ของสภาวิจัยแห่งชาติ

นายแพทย์อนุชิต บอกถึงที่มาของผลงานประดิษฐที่เรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการแพทย์ชิ้นนี้ว่า ในแต่ละปีมีผู้ประสบอุบัติเหตุจากกระดูกหน้าแข้งหักมากกว่า 10,000 ราย ในการรักษาส่วนใหญ่มักใช้การผ่าตัดดามด้วยแผ่นเหล็กและสกรู ซึ่งนอกจากจะมีแผลยางจากการผ่าตัดในการดามเหล็กและเอาเหล็กออกแล้ว ยังเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน ทำให้ต้องผ่าตัดหลายครั้งได้ ตนจึงพัฒนา”เครื่องมือยึดจับกระดูกจากภายนอกชนิดยืดหยุ่น” ขึ้น เพื่อแก้ปัญหาในการแพทย์และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาภาวะกระดูกหน้าแข้งหัก

ตัวเครื่องมือออกแบบเป็น 3 ส่วน มีท่อหลัก 3 ท่อนและ ส่วนข้อต่อและวงแหวนรัด คุณสมบัติพิเศษ คือน้ำหนักเบา สวยงาม ยืดหยุ่นแต่มีความแข็งแรงเพียงพอในการยึดตรึงกระดูกให้คงที่ตลอดการรักษา สามารถปรับแต่งมุมกระดูกนอกห้องผ่าตัด รวมทั้งปรับสั้น–ยาว ปรับหมุนได้ ลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการผ่าตัดแบบเดิม ๆ ตัวเครื่องมือมีลักษณะโปรงแสงเอกซเรย์ ทำให้การติดตามผลการรักษาทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อกระดูกสมานกันแล้วสามารถถอดเครื่องมือดังกล่าวได้อย่างง่ายดาย

คุณหมอนักประดิษฐ์ บอกว่า ผลงานนี้ทำเสร็จตั้งแต่ปี 2552 ผ่านการตรวจสอบการใช้งานตามมาตรฐานของอุปกรณ์การแพทย์ ปัจจุบันใช้รักษาคนไข้ในโรงพยาบาลปัตตานีแล้วกว่า 50 ราย ซึ่งผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจทั้งแพทย์และผู้ป่วย สามารถลดภาวะเครียดของผู้ป่วย และลดระยะเวลาในการรักษาลง

สำหรับต้นทุนการผลิต นายแพทย์อนุชิต บอกว่า ต่ำมากเพียงหนึ่งพันบาท ขณะที่อุปกรณ์ยึดจับกระดูกภายนอกที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีราคาหลักแสน และไม่ยืดหยุ่นได้เท่านี้

อุปกรณ์นี้สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่หลาย ๆ ครั้ง ลดปัญหาค่ามัดจำเครื่องมือและยังสามารถลดจำนวนครั้งของผู้ป่วยในการเข้ารักษาในโรงพยาบาลอีกด้วย

นายแพทย์อนุชิต บอกอีกว่า การที่สภาวิจัยแห่งชาติให้รางวัลในครั้งนี้ ถือเป็นกำลังใจและผลักดันให้เกิดการใช้งานอุปกรณ์ฝีมือคนไทยมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ช่วยรัฐประหยัดงบประมาณ ซึ่งตนเองพร้อมที่จะถ่ายทอดผลงานสู่ผู้ที่สนใจต่อไป

ชมผลงานประดิษฐ์คิดค้นนี้ได้ที่งาน “วันนักประดิษฐ์”ประจำปี 2554 ระหว่างวันที่ 2-5 ก.พ.นี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี.

ไอที-นวัตกรรม : นวัตกรรม

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ เปิดตัวซอฟต์แวร์สำเร็จรูปเพื่อการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกของไทย กระตุ้นทุกองค์กรตื่นตัวและมีส่วนร่วมลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์สู่ชั้นบรรยากาศ
 ผศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กล่าวว่า ขณะนี้นักวิจัยเอ็มเทคสามารถพัฒนาซอฟต์แวร์สำเร็จรูปต้นแบบ สำหรับใช้ประเมินการปลดปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกของไทย (แอลซีเอ) ชื่อว่า Thai GHGs+ software เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปใช้กับองค์กรหรือผลิตภัณฑ์ของตัวเองเสร็จแล้ว
 “ซอฟต์แวร์ดังกล่าว ถูกออกแบบโดยอ้างอิงมาตรฐานสากล ISO 14040 โดยจะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้ประกอบการในการคำนวณหาค่าการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของผลิตภัณฑ์ต่อชิ้น ตั้งแต่ตัววัตถุดิบจนถึงขั้นตอนการทำลายผลิตภัณฑ์หลังใช้งานเสร็จ เพื่อให้ทราบว่าจุดไหนของกระบวนการที่ควรปรับปรุงเพื่อความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด”ผู้อำนวยการเอ็มเทค กล่าว
 การพัฒนาซอฟต์แวร์ดังกล่าวเป็นผลงานต่อยอดมาจากการจัดทำฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของวัสดุพื้นฐานและพลังงานของประเทศที่พัฒนาขึ้นในปี 2550 ซึ่งเอ็มเทคร่วมกับพันธมิตรอีก 4 หน่วยงานได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
  ซอฟต์แวร์ดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปใช้งานโดยตรง โดยมีเป้าหมายจะทดสอบการใช้งานฟรีใน 60 ผลิตภัณฑ์ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ เพื่อหาจุดบกพร่องและนำไปปรับปรุงให้สมบูรณ์แบบพร้อมให้บริการดาวโหลดน์ใช้งานจากเว็บไซต์ต่อไปในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า
 ผู้อำนวยการเอ็มเทค กล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการที่ใช้งานซอฟต์แวร์ดังกล่าว ไม่เพียงรู้ปัญหาและปรับปรุงกระบวนการผลิตของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังมีโอกาสในการแข่งขันด้านการส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มสหภาพยุโรปซึ่งเริ่มมีความเข้มข้นเรื่องการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในอนาคต
 ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวพัฒนาฐานข้อมูลวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ต้นน้ำมากกว่า 600 ฐานข้อมูล ครอบคลุมในกว่า 30 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสู่ระบบเศรษฐกิจแบบคาร์บอรนต่ำ ซึ่งประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปให้ความสำคัญมากขึ้น
 “อนาคตการประเมินค่าการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์องค์กร แต่จะเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมร่วมกัน โดยที่ผู้บริโภคสินค้าเองสามารถมีส่วนร่วมได้โดยตรงผ่านการเลือกซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว

การจัดการ…….นวัตกรรม

  ทันที่เราได้ยินคำว่า "นวัตกรรม" เราจะนึกถึงการสร้างเทคโนโลยีใหม่ ๆ การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือ การบริการรูปแบบใหม่ จะมีใครกี่คนที่จะรู้ว่า ในทางการจัดการก็มีการสร้างนวัตกรรมเช่นเดียวกัน เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานในองค์กรธุรกิจ เรามาอ่านและทำความเข้าใจพร้อม ๆ กันดีกว่า ว่า "นวัตกรรม" มันคืออะไร
Peter Drucker: ให้ความหมายคำว่า "นวัตกรรม" ไว้ว่า "Innovation is The act of introducing something new" เป็นการสร้างสิ่งใหม่ หรือการทำให้แตกต่างจากคนอื่น โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงมาสร้างให้เป็นโอกาส และต้องมีความชัดเจน และมุ่งเน้นถึงการพัฒนา และที่สำคัญคือต้องมีการลงมือกระทำ นวัตกรรมจึงจะเกิดขึ้น
ทำไมต้องมีนวัตกรรม Michael Porter กล่าวว่า "Innovation is one step remove from today's prosperity. Innovation drives the rate of long run productivity growth an hence future competitiveness." นวัตกรรมเป็นการก้าวไปจากความมั่งคั่งในปัจจุบันก้าวหนึ่ง และนวัตกรรมจะเป็นสิ่งผลักดันให้มีการเติบโตของผลิตภัณฑ์ในระยะยาวและสร้างความสามารถในการแข่งขันในอนาคต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสาเหตุของการเกิดนวัตกรรมนอกจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในระดับมหภาคและระดับจุลภาคแล้ว การแข่งขันในเชิงธุรกิจก็เป็นปัจจัยในการสร้างหรือเกิดนวัตกรรมเพราะการสร้างนวัตกรรมถือได้ว่าเป็นจุดแข็ง และเป็นโอกาสขององค์กรธุรกิจที่จะสร้างความได้เปรียบเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งขันในอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจเดียวกัน
        
        โดยทั่วไปแล้ว นวัตกรรมสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
        - Product Innovation เป็นนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างหรือพัฒนา ผลิตภัณฑ์และบริการ (Tangible product and Intangible product)
        - Process Innovation เป็นนวัตกรรมกระบวนการ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่มองในเรื่องของการเพิ่มผลผลิต โดยจะมุ่งเน้นไปในเรื่องของความรู้ทางด้านเทคโนโลยี มาพัฒนากระบวนการผลิต
        - Organization Innovation เป็นนวัตกรรมที่เน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการและบริหารองค์กร ซึ่งจะต้อง ใช้ความรู้ความสามารถในด้านการบริหารการจัดการมาปรับปรุงโครงสร้างองค์กรใหม่

        
ซึ่งในที่นี้เราจะกล่าวถึง Organization Innovation หรือนวัตกรรมองค์กร ที่มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการหรือการบริหารองค์กร ซึ่งเป็นการนำเครื่องมือทางการจัดการที่มีอยู่ในปัจจุบันมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เช่น TQM (Total Quality Management), Six Sigma, Balance Scorecard, Benchmarking เป็นต้น
        ตัวอย่างขององค์กรในประเทศไทยที่นำแนวคิดทางการจัดการมาสร้างเป็นนวัตกรรม ในลักษณะ Organization Innovation ได้แก่ โรงพยาบาลพญาไท ที่ได้นำหลักของ Six Sigma (ซิค ซิคม่า) มาใช้ลดข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นภายในองค์กร เช่นในเรื่องของปัญหาการทำงานซ้ำซ้อนของเจ้าหน้าที่ การวางระบบการเก็บยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งผลของการนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ก็ถืออยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ หรือแม้แต่ในระบบราชการในเมืองไทย ก็มีการสร้างนวัตกรรมในการบริหารเช่นเดียวกัน ตัวอย่างที่ได้มีการปฏิบัติแล้วก็คือ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) โดยการสร้างระบบ Public Service Management Standard and Outcome (PSO) ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานสากลแห่งประเทศไทยด้านการจัดการ และผลสัมฤทธิ์ของหน่วยงานภาครัฐเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 ทั้งหมด 11 ระบบ เช่น ระบบข้อมูล ระบบการบริการประชาชน ระบบการวัดผลสัมฤทธิ์ของงานเป็นต้น หรือตัวอย่างขององค์กรต่างประเทศ ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือกรณีของบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง General Electrics (GE : จีอี อีเล็คทรอนิค) กับการนำแนวคิดของ Six Sigma มาใช้ ที่ในปัจจุบัน GE ได้กลายเป็นต้นแบบในการนำ Six Sigma มาใช้ให้กับองค์กรอื่นทั่วโลก นอกจากนี้ในธุรกิจด้านฟาสต์ฟูดอย่าง McDonald ก็ได้นำหลักการ TQM (Total Quality Management: การจัดการคุณภาพโดยรวม) มาใช้ในกระบวนการจัดเตรียมอาหาร ทำให้สามารถให้บริการอาหารที่สด รวมถึงการจัดการในด้านการบริการลูกค้า วิธีการทำอาหารโดยการสร้างมาตรฐานให้ใกล้เคียงกับเทคนิคการปรับปรุงคุณภาพ ของธุรกิจอุตสาหกรรม หรือธุรกิจบริการอย่าง Federal Express, Disney World รวมถึง เซเว่น อีเลฟเว่น ก็ยังให้ความสำคัญต่อการนำ TQM มาจัดการโดยมุ่งการจัดการฝึกอบรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงาน และการพัฒนาองค์กร นอกจากนี้ TQM ยังสามารถที่จะนำมาใช้ในธุรกิจสายการบิน และโรงแรมได้เช่นเดียวกัน ในส่วนของ Balance Scorecard (BSC: เป็นเครื่องมือ ในการแปรกลยุทธ์มาสู่การปฏิบัติ และเป็นเครื่องมือประเมินผล) ตัวอย่างเช่น บริษัท Rockwater, Apple Computer (บริษัท แอปเปิ้ล คอมพิวเตอร์), Advanced Micro Devices (AMD) ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้ใช้ BSC มาใช้ในการวัด Performance และกำหนดกลยุทธ์ หรือตัวอย่างในเมืองไทยที่ได้นำแนวคิด BSC มาใช้ คือ เซเว่น อีเลฟเว่น โดยนำมาใช้ในการวางระบบการทำงานให้มีความสอดคล้องมากขึ้น เป็นต้น
        จากตัวอย่างที่ได้ยกมา พอจะสรุปได้ว่า นวัตกรรมองค์กรหรือการนำแนวคิดทางด้านการจัดการมาใช้ในองค์กรธุรกิจ เริ่มจะเข้ามามีบทบาทในการบริหารงานองค์กรธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หลายๆ องค์กรธุรกิจพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อสร้างให้เป็นจุดแข็ง และโอกาส ที่จะสามารถจะนำมาสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน
แต่อย่างไรก็ตามในการสร้างนวัตกรรมองค์กร ใช่ว่าทุกองค์กรจะทำแล้วจะประสบความสำเร็จ สาเหตุสำคัญเนื่องมาจากพฤติกรรมที่ปิดกั้นความสามารถด้านนวัตกรรม กล่าวคือ การไม่ยอมรับหรือกลัวในสิ่งที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่องค์กรธุรกิจจะต้องจัดการก่อนที่จะดำเนินการสร้างนวัตกรรมองค์การนั้น องค์กรธุรกิจจำเป็นที่จะต้องพิจารณาในเรื่องดังต่อไปนี้
        1. ต้องเข้าใจถึงสภาพแวดล้อมโดยรวมทางธุรกิจ หรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน ซึ่งจะพิจารณาในด้านของความเหมาะสมความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง
        2. ต้องเข้าใจสภาพแวดล้อมภายในองค์กรธุรกิจว่ามีความพร้อมในการที่จะสร้างนวัตกรรมองค์กรหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเงินทุน และ ตัวบุคลากร
        3. สร้างความเข้าใจ กับทุกฝ่ายในองค์กรธุรกิจ ตั้งแต่ระดับผู้บริหารจนถึงพนักงานระดับปฏิบัติการ เพื่อสร้างแนวทางในการปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากคนบางกลุ่มที่ไม่สามารถยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
        4. นวัตกรรมที่จะทำนั้นสามารถที่จะทำได้ในความเป็นจริง และเป็นประโยชน์ต่อองค์กรธุรกิจ ไม่ใช่เป็นเพียงแต่ความคิด
ซึ่งความสำคัญของความรู้ที่ได้กล่าวมานั้น อาจถือได้ว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานในการสร้างนวัตกรรมองค์การ ซึ่งถ้านำปัจจัยพื้นฐานทั้งหมดมารวมกัน คือ การเข้าใจถึงสภาพแวดล้อมโดยรวมของธุรกิจ การเข้าใจสภาพแวดล้อมภายในขององค์กร การสร้างความเข้าใจกับบุคลากรในองค์กร และนำนวัตกรรมนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ก็จะทำให้การจัดการนวัตกรรมองค์กร สามารถที่จะกระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จในที่สุด

รู้ทันพลังงาน

มื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้เขียนได้กล่าวถึงเชื้อเพลิงขยะหรือที่เราเรียกง่าย ๆ ว่า อาร์ดีเอฟ (RDF : Refuse Derived Fuel) และการนำไปใช้ประโยชน์เป็นพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ ต่อเนื่องกัน 2 ตอน โดยมีสิ่งที่ต้องคำนึงเมื่อจะนำเชื้อเพลิงขยะมาใช้นาน ไม่ว่าจะใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงเสริมหรือเป็นเชื้อเพลิงหลัก ในตอนนี้จะขอกล่าวถึงวิธีการหรือขั้นตอนการแปรสภาพขยะให้เป็นเชื้อเพลิงขยะ

        ก่อนที่จะกล่าวถึงวิธีการหรือขั้นตอนในการแปรสภาพขยะนั้น เราควรจะทราบถึงประเภทของเชื้อเพลิงขยะเสียก่อนว่ามีอะไรบ้าง การนำขยะมาใช้เป็นเชื้อเพลิงนั้นยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานว่าจะต้องมีลักษณะเป็นเช่นไร มีองค์ประกอบอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการหรือว่าความสามารถของเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนรูปขยะไปเป็นพลังงาน อย่างไรก็ตาม ได้มีการแบ่งประเภทเชื้อเพลิงขยะโดยใช้ชื่อเรียกที่แตกต่างกันเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจและการนำไปใช้งานซึ่งมีอยู่ 2 ระบบ ได้แก่ ระบบทางประเทศสหรัฐอเมริกา และระบบทางกลุ่มประเทศยุโรป โดยระบบทางประเทศสหรัฐอเมริกาแบ่งออกเป็น 7 ประเภท ตั้งแต่ RDF-1 คือ การใช้ขยะมาเป็นเชื้อเพลิงในสภาพที่ถูกจัดเก็บมาโดยตรงเลย อาจจะมีการแยกชิ้นส่วนที่มีขนาดใหญ่ออกมาในกรณีที่สามารถเห็นได้ด้วยตา RDF-2 คือ ขยะที่ถูกจัดเก็บมาแล้วมาผ่านกระบวนการคัดแยกนำสิ่งที่เผาไหม้ไม่ได้ออก รวมถึงผ่านกระบวนการลดขนาดอย่างหยาบ ๆ ไม่ละเอียดมากนัก RDF-3 จะเหมือนกับ RDF-2 แต่จะมีการลดขนาดให้เล็กลง มาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็น RDF-2 หรือ RDF-3 องค์ประกอบของขยะส่วนใหญ่ (หรือเกือบทั้งหมด) จะมีแต่องค์ประกอบที่เผาไหม้ได้เท่านั้น จากนั้นถ้าต้องการเชื้อเพลิงไปใช้กับเทคโนโลยีที่ต้องการขนาดของเชื้อเพลิงที่เล็กละเอียด เช่น Suspension Firing System ก็จะนำ RDF-4 หรือในทางตรงกันข้าม ถ้าต้องการเชื้อเพลิงขยะที่มีขนาดใหญ่ขึ้น มีความหนาแน่นมากขึ้น เพื่อความสะดวกในการจัดเก็บและขนส่งนั้น ก็จะนำ RDF-3 มาผ่านกระบวนการอัดหรือที่เรียกว่า RDF-5 ในระหว่างกระบวนการอัด อาจจะมีการเติมส่วนประกอบต่าง ๆ เพิ่มเข้าไปเพื่อให้มีคุณสมบัติที่ดีขึ้นตามต้องการ เช่น เติมหินปูนเพื่อช่วยในการดูดซับแก๊สที่มีสภาพเป็นกรดที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการเกิดปฏิกิริยาทางความร้อน เติมถ่านหินเพื่อช่วยให้มีค่าพลังงานที่สูงขึ้น หรืออาจจะผสมกับเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อการควบคุมปริมาณองค์ประกอบที่พึงประสงค์ต่าง ๆ เช่น ปริมาณคลอไรด์ ปริมาณโลหะหนัก ที่มีอยู่ในขยะให้มีปริมาณที่กำหนดหรือสามารถควบคุมได้ด้วยเทคโนโลยีการแปรรูปขยะเป็นพลังงานที่ใช้งานอยู่ สำหรับ RDF-6 และ RDF-7 คือ เชื้อเพลิงขยะที่ไม่ได้อยู่ในรูปของเชื้อเพลิงแข็ง เหมือนกับ RDF-1 ถึง RDF-5 ก่อนหน้านี้ แต่จะอยู่ในรูปของเชื้อเพลิงแก๊สและเชื้อเพลิง แต่จะอยู่ในรูปของเชื้อเพลิงแก๊สและเชื้อเพลิงเหลว ตามลำดับ การที่จะเปลี่ยนสภาพจากเชื้อเพลิงแข็งไปเป็นเชื้อเพลิงแก๊สสามารถทำได้โดยผ่านกระบวนการที่เรียกว่า แก๊สซิฟิเคชัน (Gassification) ซึ่งแก๊สที่ได้จะประกอบไปด้วย คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และไฮโดรเจน (H2) เป็นองค์ประกอบหลัก และแก๊สอื่น ๆ เช่น มีเทน (CH4) ส่วนการเปลี่ยนสภาพจากเชื้อเพลิงแข็งไปเป็นเชื้อเพลิงเหลว ทำได้โดยผ่านกระบวนการเรียก ไพโรไลซิส (Pyrolysis) หรือการให้ความร้อนในสภาพไร้อากาศ ซึ่งจะได้ผลิตภัณฑ์ส่วนหนึ่งออกมาในรูปของเหลว ซึ่งมีองค์ประกอบของไฮโดรคาร์บอนเป็นหลัก แต่ของเหลวที่ว่านี้ยังไม่สามารถนำไปใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ได้ทันที เพราะยังอยู่ในสภาพที่คล้ายกับน้ำมันดิบ จำเป็นต้องไปผ่านกระบวนการกลั่นก่อน วิธีการที่จะเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงแข็งไปเป็นเชื้อเพลิงเหลวอีกวิธีหนึ่ง คือ การเปลี่ยนเชื้อเพลิงแข็งไปเป็นเชื้อเพลิงแก๊ส หรือที่เรียกว่าแก๊สสังเคราะห์ (Syn gas) ก่อน โดยกระบวนการแก๊สซิฟิเคชัน เมื่อได้เชื้อเพลิงแก๊สมาแล้วก็จะนำแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และไฮโดรเจน (H2) ที่มีอยู่ในแก๊สนั้นมาผ่านกระบวนการสังเคราะห์ที่เรียกว่า Fischer-Tropsch Synthesis ก็จะได้น้ำมันเชื้อเพลิงออกมา จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนสภาพจากขยะมาเป็นเชื้อเพลิงแก๊สหรือเชื้อเพลิงเหลวนั้น เป็นการเพิ่มคุณค่าและทางเลือกของการใช้ประโยชน์จากเชื้อเพลิงขยะในรูปแบบของพลังงาน แต่สิ่งที่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญ ก็คือความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี แม้ว่าทั้งเทคโนโลยีแก๊สฟิเคชั่น และเทคโนโลยีไพโรไลซิสจะไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ก็จริง แต่สถานภาพการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ยังอยู่แค่ในระดับเพียงเทคโนโลยีสาธิตบางอย่างยังอยู่แค่ในระดับวิจัยและพัฒนาเท่านั้น ดังนั้นการที่จะนำมาใช้กับขยะของประเทศไทย ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมากกับขยะของประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีประเภทนี้ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประเทศทางกลุ่มยุโรป จึงต้องระวังและพิจารณาอย่างรอบคอบจนแน่ใจเสียก่อน

        ส่วนระบบของทางกลุ่มประเทศยุโรปไม่ได้มีการแบ่งประเภทของเชื้อเพลิงขยะไว้หลายประเทศเหมือนกับระบบทางประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนเอาไว้ เพียงแต่มีการเรียกประเภทของเชื้อเพลิงขยะตามลักษณะทางกายภาพ ซึ่งกล่าวได้ว่ามี 3 ประเภท ได้แก่ c-RDF (Coarse RDF) f-RDF (Fluff RDF) และ d-RDF (Densified RDF) ซึ่งถ้าจะเทียบกับระบบทางประเทศสหรัฐอเมริกา ก็จะได้ว่า c-RDF เทียบได้กับ RDF-1 f-RDF เทียบได้กับ RDF-3 และ d-RDF เทียบได้กับ RDF-5

        จากประเทศของเชื้อเพลิงขยะที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น จะเห็นว่าขั้นตอนหรือวิธีการที่เรียกได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญนั่นก็คือ กระบวนการคัดแยกขยะมีองค์ประกอบที่หลากหลาย ถ้าแบ่งเป็นคร่าว ๆ ก็จะได้เป็นส่วนประกอบที่เผาไหม้ได้ และองค์ประกอบที่เผาไหม้ไม่ได้ และถ้าแบ่งองค์ประกอบที่เผาไหม้ได้ออกมาอีก จะพบว่าประกอบไปด้วย กระดาษ พลาสติก เศษผัก เศษอาหาร กิ่งไม้ใบไม้ หนัง เป็นต้น ส่วนองค์ประกอบที่เผาไหม้ไม่ได้ก็จะมี แก้ว โลหะ กระป๋องอะลูมิเนียม เศษหินเศษดิน เป็นต้น

        กระบวนการคัดแยกก็มีทั้ง แยกโดยใช้แรงงานคน (Hand sorting) และใช้เครื่องจักรกล (Sorting machine) ปัญหาสำคัญของกระบวนการคัดแยก ก็คือ การคัดแยกขยะซึ่งมีองค์ประกอบที่หลากหลายและแตกต่างกันอย่างมาก ทำให้กระบวนการคัดแยกไม่สามารถทำได้ในขั้นตอนเดียว แต่ต้องมีหลายขั้นตอนเพื่อคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ ออกมาในแต่ละขั้นรวมถึงการมีการพัฒนากระบวนการคัดแยกขยะมีประสิทธิภาพสูง ได้ส่วนที่จะนำมาเป็นเชื้อเพลิงขยะได้มากขึ้นและมีคุณภาพดีขึ้นด้วย

        หลายคนคงอาจจะเคยได้ยินกระบวนการบำบัดยะแบบเชิงกลชีวภาพ (Mechanical Biological Treatment, MBT) กระบวนการบำบัดขยะแบบชีวมวลเชิงกล (Biological Mechanical Treatment; BMT) กระบวนการบำบัดขยะแบบเชิงกลความร้อน (Mechanical Hot Air Treatment; MHT) หรือกระบวนการบำบัดขยะโดยใช้ไอน้ำ (Steam Treatment หรือ Autoclave Treatment) ฟังดูเยอะแยะไปหมด แต่กล่าวโดยสรุปก็คือเป็นพัฒนาการด้านกระบวนการบำบัดขยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการคัดแยกขยะให้สูงขึ้น

        ในปัจจุบัน จากการศึกษาของกลุ่มประเทศทางยุโรป พบว่า สัดส่วนของปริมาณเชื้อเพลิงขยะที่ได้ต่อปริมาณขยะ ขึ้นอยู่กับรูปแบบการจัดเก็บขยะ กระบวนการที่ใช้ในการแปรสภาพขยะและคุณภาพของเชื้อเพลิงขยะที่ต้องการ โดยมีค่าอยู่ในช่วงระหว่าง 20-50% โดยน้ำหนักของขยะที่ป้อนเข้าแปรสภาพ และพบว่ากระบวนการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพสูงนั้น จำเป็นต้องมีการแยกทิ้งขยะตั้งแต่แหล่งกำเนิด (Separation at Source)

        จะเห็นได้ว่ากระบวนการจัดการขยะเพื่อแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงขยะนั้นมีหลายแบบให้เลือกใช้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของเราเอง แต่ไม่ว่าเราจะเลือกใช้เทคโนโลยีหรือกระบวนการแบบใดก็ตาม ปัจจัยสู่ความสำเร็จของการจัดการขยะเพื่อแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิง ได้แก่ การแยกทิ้งขยะตั้งแต่แหล่งกำเนิดไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีใด ๆ เพียงแต่ละคนรู้จักที่จะทำการแยกขยะก่อนทิ้ง เราทุกคนสามารถที่จะทำการแยกขยะก่อนทิ้งได้โดยไม่ยาก ประเภทของขยะที่ควรทำการแยกก่อนทิ้งก็ไม่ยุ่งยากมากนัก ซึ่งจะประกอบไปด้วย 1.วัสดุที่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ เช่น แก้ว โลหะ กระป๋องน้ำอัดลม พลาสติกประเภทต่าง ๆ กระดาษที่ยังไม่เปื้อนเป็นต้น 2.ขยะจำพวกอินทรีย์สารที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย ซึ่งได้แก่ขยะจำพวกเศษอาหาร เศษผักที่ได้จากการจัดหา จัดเตรียมอาหาร ซึ่งขยะจำพวกนี้เหมาะสมที่จะนำไปบำบัดโดยกระบวนการหมักเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ และ/หรือทำเป็นสารปรับปรุงคุณภาพดิน 3.ของทิ้งที่มีสารพิษ ตัวอย่างเช่น ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ ภาชนะบรรจุสารเคมี เป็นต้น ของงทิ้งจำพวกนี้จำเป็นต้องมีการจัดการเป็นพิเศษ และจำพวกสุดท้ายได้แก่ 4.ขยะทั่วไป ซึ่งก็คือขยะที่นอกเหนือจาก 3 กลุ่มดังกล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งอาจจะประกอบไปด้วย กระดาษที่สกปรก โฟมบรรจุอาหาร ถุงบรรจุอาหาร กิ่งไม้ใบไม้ที่เกิดจากการตกแต่งสวน เศษผักเศษอาหารที่ย่อยสลายได้ยาก เช่น เปลือกผลไม้เนื้อแข็ง เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้มีความเหมาะสมที่จะนำไปแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงขยะต่อไป และจะเห็นได้ว่ากระบวนการต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้เพื่อแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงขยะต่อไป และจะเห็นได้ว่ากระบวนการต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้เพื่อแปรสภาพขยะส่วนนี้ ก็จะน้อยลงไม่ซับซ้อนยุ่งยากมากนัก และจะได้ประสิทธิภาพที่สูงขึ้นด้วย

        เราอาจจะสรุปได้ว่า การแยกขยะก่อนทิ้งนั้นคือจุดเริ่มต้น และจุดสำคัญที่สุดของกระบวนการจัดการขยะอย่างเหมาะสมและดีที่สุด ดังนั้นการแยกขยะก่อนทิ้งจึงเป็นสิ่งที่เราทุกคนจำเป็นต้องปฏิบัติ (Code of Conduct) ไม่ใช่เป็นเพียงแค่สิ่งที่ควรปฏิบัติ (Code of Practice) แม้ว่าเราทิ้งขยะลงในถังเดียวกันเพื่อรอให้เจ้าหน้าที่มาเก็บไป เราสามารถแยกขยะก่อนทิ้งได้ โดยแยกประเภทของที่จะทิ้งแล้วใส่ถุงแยกไว้ เมื่อเจ้าหน้าที่มาทำการเก็บขยะจากถังก็สามารถคัดแยกได้โดยง่ายและสะดวก กระบวนการจัดการต่อไปก็สามารถทำได้โดยง่ายมีประสิทธิภาพสูงขึ้นหลายคนอาจคิดว่าเพียงแค่แยกขยะก่อนทิ้งนั้นจะส่งผลให้เกิดกากรเปลี่ยนแปลงอย่างมากได้จริงหรือ ลองคิดดูว่าการแยกสิ่งของที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ทำให้เราลดปริมาณการใช้วัตถุดิบที่ต้องนำมาใช้ผลิตสิ่งของเหล่านี้ รวมถึงพลังงานที่ต้องการใช้ในการผลิตก็ใช้น้อยลง ปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิตก็น้อยลง ทำให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง อีกทั้งการแยกแยะก่อนทิ้งทำให้กระบวนการจัดการขยะขั้นต่อไปสามารถทำได้โดยง่าย ก่อให้เกิดการจัดการที่ได้ประสิทธิภาพสูง ได้พลังงานออกมาจากการจัดการขยะและไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้ว่าแค่เพียงการกระทำเพียงเล็กน้อยของเราแต่ละคน สามารถก่อให้เกิดผลที่ตามมาอย่างใหญ่หลวง โดยไม่ต้องรอพึ่งเทคโนโลยีบำบัดซึ่งมักจะมีราคาแพงและมักจะใช้งานไม่ค่อยได้

หมายเหตุ :
        บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ได้รับการสนับสนุนจากสำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน บทความนี้ เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์

ลอดปี 2551 หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมีงานประกวดผลงานความก้าวหน้าทางความคิดเพื่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นระดับประชาชนหรือระดับเยาวชนและสามารถแปรรูปออกมาเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะนำมาใช้เพื่อหยุดยั้งวิกฤตสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายไปมากในปัจจุบัน เช่นเดียวกับทางบริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ก็ได้มีการประกวดประดิษฐ์ค้นหาสิ่งใหม่ ๆ ภายใต้โครงการ “PTT CHEEN INNOVATION AWARD” สำหรับนักเรียน นักศึกษา ที่จะนำความรู้ความสามารถบวกกับไอเดียบรรเจิดคิดค้นนวัตกรรมที่จะช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

        นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่โดดเด่น น่าใช้ สามารถใช้งานได้จริงและเหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ที่สิ่งแวดล้อมมาเป็น โจทย์ ในการประกวดครั้งนี้ ผลงานชิ้นแรก กระเบื้องยางหลังคาจากเศษพลาสติกและเศษยางรถยนต์ ของนักประดิษฐ์สาว ลีสาวาตี เจ๊ะมามะ นักศึกษาชั้นปี 4 จากภาควิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี จ.ปัตตานี ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศระดับอุดมศึกษาในการประกวดนี้

        เศษยางรถยนต์ไร้ค่า สร้างปัญหาในการกำจัด และหากทำลายด้วยหลังคาจากเศษพลาสติกและยางรถยนต์ของนักศึกษาผู้นี้ ที่ทำงานร่วมกับที่ปรึกษาอย่าง อ.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย และ อ.ธีรสุดา ประเสริฐ สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้

        ลีลาวาตีบอกถึงแนวคิดผลงานว่า อุตสาหกรรมรถยนต์เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศไทย มีกว่าร้อยละ 70 ปริมาณการใช้รถยนต์ของคนไทยก็สูง ซึ่งยางรถยนต์เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ผลิตมากไปด้วย ยางรถหมดอายุการใช้งานถูกนำมากองทิ้ง จากข้อมูลพบว่าบ้านเรามีเศษยางรถยนต์หมดอายุจำนวนกว่า 1.7 ล้านตันต่อปี เช่นเดียวกับพลาสติกที่มีปริมาณการใช้มากไม่แพ้กัน วัสดุทั้ง 2 ประเภทนี้เป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ยาก ถ้าเผาทำลายจะเกิดมลพิษทางอากาศ จากปัญหาเหล่านี้จึงเกิดแนวคิดกระเบื้องยางมุงหลังคาที่นำเศษพลาสติกและเศษยางรถมารีไซเคิล เป็นส่วนประกอบมากกว่าร้อยละ 90

        “การผลิตทำโดยนำผงเศษยางรถยนต์ มาผสมกับยางธรรมชาติ (ยางแผ่นรมควัน) และสารเคมี ผสมกันบนเครื่องบดสองลูกกลิ้งทำให้มีคุณสมบัติเกาะติดกัน ยางที่ได้มีความเชื่อมโยง และทนทานแล้วมาผสมกับพลาสติกรีไซเคิล เมื่อได้เมล็ดพลาสติกผสมยางที่พัฒนาขึ้นแล้วนำมาย่อยด้วยเครื่องบดพลาสติกให้มีขนาดเล็กเพื่อง่ายต่อการขึ้นรูป ก่อนจะฉีดขึ้นรูปตามแบบที่เลือกมานี้ คือ แบบกระเบื้องหลังคา” นักประดิษฐ์อธิบายถึงนวัตกรรมใส่ใจเพื่อสิ่งแวดล้อมที่คิดค้นขึ้นมา พร้อมกับให้เครดิตอาจารย์ที่ปรึกษา ทั้ง อ.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย และอ.ธีรดา ประเสริฐ ที่คอยให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะเป็นอย่างดี

        เธอย้ำด้วยว่ากระเบื้องยางหลังคานี้มีคุณสมบัติที่ดี มีความทนทาน คงทนต่อสภาพอากาศ ทนแดด ทนฝน ทนกระแทก อายุการใช้งานยาวนาน นอกจากนี้ยังเป็นวัสดุราคาถูกพร้อมจะเข้าสู่ตลาดราคาแผ่นละ 10-12 บาท นอกจากนี้ อยากฝากถึงเยาวชนให้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และหันมาใช้วัสดุธรรมชาติ วัสดุที่นำมารีไซเคิลได้ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

        ฉนวนลดการสูญเสียความร้อนในหม้อก๋วยเตี๋ยว นวัตกรรมใหม่ ๆ ของ ปิยะนุช สุดาเดช, พิรุฬห์สิงห์ กวาง และสุริยา ภูนาสอน สามนักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก แม้จะได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวด แต่แนวความคิดน่าสนใจ เพราะตั้งใจแก้ปัญหาด้านการใช้พลังงานและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

        วิรุฬ อธิบายถึงผลงาน “ออกแบบและสร้างฉนวนทรงกระบอกเพื่อลดการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวในหม้อต้มก๋วยเตี๋ยว” ว่าคือการนำโฟมเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์ นำมาเป็นฉนวนลดการสูญเสียความร้อนให้กับหม้อก๋วยเตี๋ยว หม้อต้มกาแฟโบราณ และหม้อน้ำเต้าหู้ เพื่อเป็นการลดการใช้ก๊าซแอลพีจีของพ่อค้าแม่ค้า โดยโครงสร้างภายนอกเป็นสังกะสีและมีโฟมเหลือใช้บรรจุอยู่ภายในนอกจากฉนวนที่เป็นโฟมแล้ว ยังมีการทดลองฉนวนใยแก้ว และขี้เถ้าถ่านด้วย

        “ผลการทดสอบใช้งานจริงกับร้านก๋วยเตี๋ยวที่มหาวิทยาลัยนเรศวร เทียบกับหม้อดินที่ไม่มีฉนวน พบว่าฉนวนใยแก้วและขี้เถ้าถ่านลดการใช้ก๊าซแอลพีจีได้ประมาณ 1.5 กิโลกรัมต่อวัน ช่วยลดต้นทุนของแม่ค้าลงได้ ช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วย เพราะปริมาณก๊าซไปเสียที่เกิดจากการเผาไหม้แอลพีจีลดลง ส่วนฉนวนโฟมไม่เหมาะกับการใช้งานที่ให้ความร้อนโดยตรง เหมาะกับการเก็บความร้อน อย่างหม้อร้านข้าวแกง ร้านขนมจีน ร้านราดหน้าที่ปรุงเสร็จแล้ว และอยากให้อาหารร้อนอยู่ตลอด”

        เพื่อนร่วมทีม ปิยะนุชเสริมว่า อุปกรณ์ชิ้นนี้ไม่ได้ยึดติดกับหม้อก๋วยเตี๋ยว ทำให้ไม่ต้องลงทุนซื้อหม้อใหม่ แต่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มในส่วนของฉนวนใยแก้ว และฉนวนขี้เถ้าถ่าน นอกจากนี้จะผลิตขายเป็นธุรกิจ สร้างรายได้ให้ชุมชนต่อไปก็ได้ เพราะมีการลงทุนต่อ คืนทุนได้ในระยะยาว

        มาดูนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เพื่อสิ่งแวดล้อมระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แม้จะเป็นเด็กรุ่นเยาว์กว่าระดับมหาวิทยาลัย แต่ได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ และมีแรงบันดาลใจในการประดิษฐ์เครื่องมือจนสามารถใช้งานได้จริงอย่างน่าทึ่งไม่แพ้พี่ ๆ

        อย่างเช่น บอร์ดพลาสติกรีไซเคิล ลดภาวะโลกร้อน สร้างสรรค์โดย อุภารัตน์ สนั่นเอื้อ, พราวรวี พงษ์ศรี และลัดดาวัลย์ โลหะปาน จากโรงเรียนชุมพลโพนพิสัย จ.หนองคาย ที่คว้ารางวัลชนะเลิศจากเวทีประกวดครั้งนี้ น้องลัดดาวัลย์ เผยแนวความคิดที่จัดทำบอร์ดพลาสติกรีไซเคิลให้ฟังว่า เราเห็นสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลงทุกวันขยะเป็นตัวการหนึ่งทำลายสิ่งแวดล้อม และถุงพลาสติก เป็นขยะที่พบเห็นได้ทุกที่ รวมทั้งในโรงเรียนของเรา จึงคิดนำขยะพลาสติกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และต้องไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

        “เรานำขยะพลาสติก อย่างถุงพลาสติก ถุงใส่อาหาร มาทำละลายในน้ำมันเบนซินแล้วนำไปเทใส่กรอบทิ้งไว้จนแข็งตัว แกะกรอบที่หล่อออกจะได้แผ่นบอร์ดพลาสติกที่พร้อมใช้งาน มีความแข็งแรงทำบอร์ดในโรงเรียน รวมถึงใช้สร้างเป็นผนังหรือฉนวนกันความร้อนในบ้านก็ได้” นักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ชาวหนองคาย กล่าวถึงผลงานที่ผ่านการศึกษาค้นคว้ามา และคว้ารางวัลชนะเลิศจากเวทีดังกล่าว

        อีกผลงาน รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ถ้วยโฟมจากเศษวัสดุธรรมชาติ ทางเลือกแทนการใช้ถ้วยโฟมเจ้าปัญหา โครงงานสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.พิษณุโลก ผู้สร้างสรรค์ประกอบด้วย สิริภาภรณ์ พละเสถียร, นรัญญา ผ่องอ่วย และวิภา อาสิงสมานันท์

        น้องสิริภาภรณ์ เผยถึงที่มาของนวัตกรรมนี้ว่า มาจากปัญหาการใช้กล่องโฟมในชีวิตประจำวัน โฟมเหล่านี้ใช้เวลาย่อยสลายนาน 400-500 ปี ถ้าเผาโฟมจะได้สารซีเอฟซี ที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนจากปัญหาเหล่านี้ เราได้ศึกษาและเลือกใช้วัสดุธรรมชาติมาเป็นวัตถุดิบผลิตเป็นพอลิเมอร์ชีวภาพ ซึ่งเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ เช่น แป้งจากพืชธรรมชาติ เส้นใยธรรมชาติ ไทยเราเป็นประเทศเกษตรกรรมปลูกพืชที่ให้แป้งได้หลายชนิด เช่น เผือก มัน กล้วย ข้าว ข้าวโพด ฟักทอง มันสำปะหลัง แต่เราคิดที่จะนำแป้งจากกล้วย เพราะหาได้ง่ายในท้องถิ่น ที่เมืองพิษณุโลกมีการปลูกกล้วยกันมาก หาง่ายและเป็นวัสดุชนิดใหม่ที่สามารถใช้ทดแทนการผลิตโฟม

        วิธีการประดิษฐ์นั้น นักเรียนหญิงคนเดิมบอกว่า ได้ศึกษาความละเอียดของเนื้อแป้งจากกล้วยชนิดต่าง ๆ ทั้งกล้วยไข่ กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า เปรียบเทียบกับแป้งจากมันสำปะหลังเพื่อนำมาผลิตถ้วยใส่อาหาร พบว่า กล้วยน้ำว้ามีเนื้อละเอียดที่สุดและคล้ายแป้งมันสำปะหลังที่สุด เพื่อเพิ่มความเหนียวและทนต่อแรง จึงเพิ่มส่วนผสมแป้งสาลีเข้าไป ให้ถ้วยโฟมนี้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ นำเส้นใยธรรมชาติจากสับปะรดพันธุ์ห้วยมุ่นที่มีความเหนียวมาผสมเพิ่มความเหนียวของภาชะจกแป้งกล้วย เป็นที่มาของอัตราส่วนแป้งต่อแป้งสาลี ต่อใยสับปะรด ต่อน้ำที่อัตรา 2 ต่อ 2 ต่อ 1 ต่อ 5 เป็นอัตราส่วนที่สามารถทำภาชนะมีประสิทธิภาพที่สุด และอบภาชนะทำจากแป้งกล้วยที่อุณหภูมิ 180 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 10 นาที

        “แป้งจากกล้วยน้ำว้านำมาเป็นวัสดุถ้วยโฟมจากวัสดุธรรมชาติได้ ใช้งานได้แบบเดียวกับภาชนะที่ทำจากโฟมซึ่งเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายยาก แต่โฟมถ้วยที่ผลิตจากแป้งเป็นวัสดุธรรมชาติ กินได้ทุกส่วนผสม ถ้านำไปทิ้งก็ย่อยสลายได้ง่าย กลายเป็นปุ๋ย ไม่ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม” วิภา สมาชิกในทีมสรุปในภาพรวม

        การประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ PTT CHEMICAL GREEN INNOVATION AWARD นี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและบริษัท ปตท.เคมิคอลจำกัด (มหาชน) ที่สนับสนุนเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีวศึกษาและอุดมศึกษาทั่วประเทศนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านสิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์ โดยมีผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวด 32 ทีม และได้ผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 10 ทีม ก่อนที่จะมีการประกาศผลรางวัลรอบชนะเลิศเมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ จามจุรี สแควร์ พร้อมงานแสดงผลงานประดิษฐ์คิดค้นจาก 10 ทีมรอบตัดเชือก

        ผลการตัดสินครั้งนี้ ระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา รางวัลชนะเลิศ บอร์ดพลาสติก รีไซเคิล ลดภาวะโลกร้อน โรงเรียนชุมพลโพนพิสัย จ.หนองคาย รองชนะเลิศอันดับ 1 ถ้วยโฟมจากวัสดุธรรมชาติ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.พิษณุโลก รองอันดับ 2 อิฐบล็อกประสานจากขยะ จากโรงเรียนเวียงแหงวิทยาคม จ.เชียงใหม่ รางวัลชมเชยอีก 2 รางวัล กระถางโอเอซิส จากขวดพลาสติกใช้แล้วของโรงเรียนสามพรานวิทยา จ.นครปฐม และไฟฟ้ากังหันท่อ PVC โรงเรียนยอเซฟอุปถัมภ์ จ.นครปฐม

        ระดับอุดมศึกษา รางวัลชนะเลิศได้แก่ กระเบื้องยางหลังคาจากเศษพลาสติกและเศษยางรถยนต์ จากภาควิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จ.ปัตตานี รองชนะเลิศอันดับ 1 การใช้ฟิล์มวัสดุประกอบแต่งนาโนในงานบรรจุภัณฑ์อย่างอ่อน ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ รองอันดับ 2 การผลิตแท่งไม้พลาสติกโดยใช้เศษพอลิเมอร์รีไซเคิล ของภาควิชาวิศวกรรมวัสดุและโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จ.ปทุมธานี ชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ หม้อก๋วยเตี๋ยวประหยัดพลังงานไร้สารตะกั่ว แผนกวิชาเครื่องกล วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี และผลงานออกแบบและสร้างฉนวนทรงกระบอกเพื่อลดการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวในหม้อก๋วยเตี๋ยว โดยมหาวทิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมเหล่านี้ถือเป็นเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่มีคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป

นาโนเทคโนโลยีกับการรักษาโรคมะเร็ง


 เรื่องหนึ่งที่เราได้ยินกันหนาหูคือ คำว่า นาโนเทคโนโลยี และเชื่อหรือไม่ การแพทย์ "นาโน" ก็รักษามะเร็งได้ นาโนเทคโนโลยีคือ เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการสร้างสิ่งที่มีขนาดในระดับนาโนเมตร (1-100 นาโนเมตร) สิ่งที่เล็กจิ๋วดังกล่าวมีประโยชน์มหาศาลในการป้องกันและรักษาโรคมะเร็ง ขณะนี้สำนักงานนาโนเทคโนโลยีแห่งชาติของไทยได้พัฒนาหัวรบนาโนกับแอนติบอดี้ออกฤทธิ์จำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง เพื่อจะนำไปสู่การรักษาโรคมะเร็งของคนไทยในอนาคต
การนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้มีหลายวิธี ตั้งแต่การพัฒนาอุปกรณ์ขนาดจิ๋วที่เป็นพาหะนำยาป้องกันมะเร็งเข้าสู่ร่างกาย การใช้ยานาโนมาทำเป็นวัคซีนป้องกันโรค การใช้เครื่องตรวจขนาดจิ๋วตรวจดัชนีบ่งชี้โรค การพัฒนาเครื่องมือตรวจมะเร็ง การวินิจฉัยโรคด้วยสารตรวจขนาดจิ๋วที่วิเคราะห์ได้ละเอียดถึงระดับเซลล์ และการติดฉลากหัวรบขนาดจิ๋วกับยามะเร็ง เพื่อนำยาไปสู่มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้ยานาโนรักษามะเร็งตัวแรกในไทยกำลังขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา โดยตัวยาเคมีบำบัดที่ติดฉลากนาโนนี้เป็นยาที่มีต้นกำเนิดจากต้นสนในสหรัฐอเมริกา จึงจัดได้ว่ามาจากสมุนไพร เป็นยาโบราณใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บมานานหลายพันปี การนำสมุนไพรมาผสมผสานกับนาโนเทคโนโลยีทำให้ได้ยาใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง และเพิ่มอำนาจทะลุทะลวงไปสู่เซลล์มะเร็ง จึงเป็นเรื่องนาทึ่งและเป็นความหวังของผู้ป่วย