ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

นิทานสอนใจ เรื่อง ขนมชื่อว่า “ไม่มี”

นิทานสอนใจ เรื่อง ขนมชื่อว่า “ไม่มี”

ชื่อนิทานเรื่องนี้อาจจะ ทำให้ผู้อ่านหลายคนเข้าใจผิดคิดถึงเรื่องของความขัดสนยากจน ถึงแม้เรื่องนี้จะขึ้นด้วยเรื่องของคนจน แต่ก็ลงท้ายด้วยความเป็นผู้มีทุกสิ่งทุกอย่าง โดยที่ไม่รู้ความหมายของคำว่า “ไม่มี” ถ้าลองติดตามอ่านดู ก็จะทราบว่าเขาคนนั้นทำอย่างไร ถึงได้เป็นผู้ที่มีพร้อมสมบูรณ์ทุกอย่าง
เรื่องมีอยู่ว่า ในอดีตกาลนานมาแล้ว มีครอบครัวของชายยากจนคนหนึ่งชื่อว่า “อันนภาระ” เขาอาศัยสุมนเศรษฐีอยู่โดยทำหน้าที่เป็นคนขนหญ้าเลี้ยงวัว เขาต้องตรากตรำทำงานหนักมาก วันหนึ่งอันนภาระได้ถวายบิณฑบาตแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้เฉพาะตัว โดยไม่ได้สั่งสอนผู้อื่นและอยู่เพียงลำพัง) นามว่า “อุปริฏฐะ” แล้วจึงตั้งจิตอธิษฐานว่า “ด้วยทานอันบริสุทธิ์ที่ข้าพเจ้าทำด้วยจิตอันเต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธานี้ คำว่าไม่มีอย่าได้เกิดแก่ข้าพเจ้าอีกเลยในทุกภพทุกชาติไป”
ด้วยอำนาจแห่งทาน ตั้งแต่นั้นในชาติต่อๆ มาเขาก็ได้เป็นเศรษฐีผู้มั่งคั่งประจำพระนคร และได้สร้างบุญถวายแด่พระภิกษุสงฆ์จำนวนมาก ตราบจนสิ้นชีวิต
มาถึงสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า “โคดม” อันนภาระก็ได้เกิดเป็นพระกุมารแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระนามว่า “เจ้าชายอนุรุทธะ” เป็นพระโอรสของพระเจ้าอาของพระบรมศาสดา ในวัยเด็กถ้ามีการแข่งขันตีคลีกันจะมีกติกาว่า ใครแพ้จะต้องเป็นผู้เลี้ยงขนม เจ้าชายอนุรุทธะทรงมีฝีมือค่อนข้างแย่กว่าเพื่อนคนอื่นๆ พระมารดาจึงต้องส่งคนรับใช้ให้นำขนมมาเตรียมไว้ให้เสมอ คราวหนึ่งเจ้าชายอนุรุทธะทรงแพ้ตีคลีหลายครั้งจนขนมหมด พระมารดาจึงส่งข่าวมาว่า “ตอนนี้ ขนมไม่มีแล้ว”
เจ้าชายอนุรุทธะไม่เคยได้ยินคำว่า “ไม่มี” มาก่อนเลย จึงเข้าพระทัยว่าพระมารดาจะส่งขนมที่ชื่อว่า “ไม่มี” มาให้ จึงเร่งคนรับใช้ให้ไปเอามา ครั้นพระมารดาเห็นคนรับใช้กลับมารับขนมอีก จึงคิดว่านางปรนเปรอและตามใจลูกมากเกินไปจนไม่รู้จักคำว่าไม่มี พระมารดาจึงต้องสอนลูกรักให้รู้จักและได้เข้าใจว่า “ไม่มี” เสียที ดังนั้น พระนางจึงได้ส่งถาดเปล่าๆ ปิดคลุมด้วยถาดทองอีกใบหนึ่ง แล้วจะไปให้เจ้าชายอนุรุทธะ
ขณะนั้น เหล่าเทวดาทั้งหลายซึ่งรู้ว่าเจ้าชายอนุรุทธะเคยตั้งความปรารถนาเอาไว้ว่า “เราไม่พึงฟังคำว่าไม่มี” ต่าง ร้อนใจคิดว่าถ้าหากตนนิ่งเฉยเสีย ศีรษะของท่าน (เทวดา) จะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ จึงเนรมิตรขนมทิพย์เป็นจำนวนมากบรรจุลงในถาดทองคำที่คนรับใช้ถือไปถวายเจ้า ชายอนุรุทธะ เมื่อพระองค์เปิดฝาครอบออก กลิ่นขนมทิพย์หอมฟุ้งไปทั่วพระนคร ครั้นเสวยขนมทิพย์แล้วก็ติดใจในรสชาติและกลิ่นหอม คิดว่าเพราะเหตุใดพระมารดาจึงไม่เคยส่งขนมอร่อยๆ เหล่านี้ให้เสวยมาก่อนเลย หรือว่าเมื่อก่อนนี้จะไม่ทรงรักพระองค์
เจ้าชายอนุรุทธะคิดดังนั้น จึงรีบกลับไปเฝ้ามารดา เพื่อทูลถามเรื่องขนมพร้อมทั้งตั้งเงื่อนไขว่า ต่อไปนี้จะเสวยแต่ขนม “ไม่มี” เท่านั้น พระมารดาไม่ทราบเรื่องมาก่อน จึงแปลกพระทัยมาก แต่เมื่อทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากคนรับใช้แล้วจึงคิดว่า ลูกของตนเป็นผู้มีบุญมากมาเกิดเป็นแน่แท้ เทวดาถึงได้เนรมิตรขนมทิพย์ให้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เวลาที่เจ้าชาย อนุรุทธะต้องการเสวยขนม “ไม่มี” พระมารดาจะทรงล้างถาดทองคำแล้วปิดด้วยถาดทองคำอีกใบหนึ่งแล้วส่งไปให้ โดยหวังว่า เทวดาทั้งหลายจะเนรมิตรขนม “ไม่มี” ให้ แล้งทุกๆ ครั้งก็เป็นเช่นนั้น
นายอันนภาระได้ให้ทานด้วยจิตที่มีศรัทธาเต็มเปี่ยม วัตถุทานที่เขาใช้ก็หามาได้ด้วยความบริสุทธิ์ และผู้รับทานยังเป็นผู้ประเสริฐยิ่งในโลก เขาจึงสมหวังดังคำอธิฐาน จึงอยากให้ท่านทั้งหลายสมหวังมีทุกๆ อย่างบริบูรณ์อย่างนายอันนภาระหรือเจ้าชายอนุรุทธะด้วย
แต่พรนี้จะสัมฤทธิผล ก็ต่อเมื่อ ท่านทั้งหลายตั้งปณิธานเหมือนที่นายอันนภาระตั้งใจทำบุญช่วยเหลือ และสงเคราะห์ตามความเหมาะสมกับฐานะ มีความเมตตา มีน้ำใจต่อกัน และพร้อมที่จะให้อภัยกันเสมอ ทุกคนก็มีสิทธิ์ทำได้กันทั้งนั้น แม้จะไม่มีเงินทองก็ใช้มิตรภาพ เพราะบางครั้งคุณค่าแห่งมิตรภาพมันยิ่งใหญ่กว่าเงินทองหรือสิ่งของมีค่าใดๆ เสียอีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น