ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554

ม.บูฯเร่งเครื่องปั้นดิจิทัลฮับตะวันออก

ม.บูรพาเดินหน้าใช้ไอทีหนุนโปรเจ็คใหญ่ ปั้นมหาวิทยาลัยเป็นดิจิทัลฮับภาคตะวันออกใน 5 ปี หวังเพิ่มโอกาสเข้าถึงเน็ตเร็วสูง



นายวิโรจน์  เรืองประเทืองสุข รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยกำลังเร่งพัฒนาศักยภาพระบบไอที โดยการสร้างโครงข่ายอีเธอร์เน็ตความเร็วสูงระดับกิกะบิต รองรับการให้บริการบรอดแบนด์ และอีเลิร์นนิ่ง สำหรับนิสิต บุคลากร ตลอดจนสถาบันการศึกษาในภูมิภาค โดยตั้งเป้าขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในภาคตะวันออกโดยเร็วที่สุด
 นายเสรี  ชิโนดม ผู้บริหารฝ่ายไอที(ซีไอโอ)  กล่าวว่า หลังจากได้รับเลือกให้เป็นสถาบันแม่ข่าย มหาวิทยาลัยเร่งเสริมแกร่งระบบอินฟราสตักเจอร์ และพัฒนาระบบโครงข่ายต่อเนื่อง ล่าสุด ติดตั้งโซลูชั่น “กิกะบิต คอนเวอร์เจ้นท์ คอมมูนิเคชั่น” จากบริษัทอาคาเทล ลูเซ่น รองรับผู้ใช้งานภายใน 43,000 คน พร้อมเตรียมขยายโครงข่ายต่อยอดการให้บริการไปยังสถาบันการศึกษาภายนอกทุกระดับ ตั้งแต่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียนอาชีวศึกษา และสถาบันอุดมศึกษา รวมอีกกว่า 3,600 แห่ง
 เขากล่าวด้วยว่า แต่ละปีจะใช้งบประมาณเพื่อพัฒนาเสถียรภาพ และบำรุงโครงข่ายประมาณ 30-50 ล้านบาท พร้อมกับพัฒนาบุคลากรรองรับการขยายงานควบคู่กันไป การผลักดันให้มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางจะช่วยให้เกิดการต่อยอดด้านโอกาสการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทั้งแบบมีสายและไร้สายซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทางการศึกษาต่อๆ ไป
 พร้อมระบุ บทบาทของมหาวิทยาลัยคือการเป็นฐานข้อมูลแห่งภาคตะวันออก ภายใน 5 ปีข้างหน้าโครงการจะต้องเห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน พร้อมรองรับนโยบายเกี่ยวเนื่องกับการศึกษาของการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
 นางสุรางคนา ธรรมลิขิต ผู้อำนวยการสำนักคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า ภายในปี 2556 จะเร่งพัฒนาระบบให้มีความเร็วเพิ่มขึ้นอีก จากปัจจุบันที่มีความเร็วระดับ 1 กิกะบิตเป็น 10 กิกะบิต พร้อมกับพัฒนารูปแบบการให้บริการภายในมหาวิทยาลัยเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์(อีเซอร์วิส) เต็มรูปแบบ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้ใช้งาน สานพันธกิจการเป็นองค์กรอัจฉริยะภายในปี 2563
 “5 ประเด็นหลักที่เราตั้งเป็นโมเดลไว้คือ 1.พัฒนาทรัพยากรบุคคล 2.เร่งพัฒนาอินฟราสตรักเจอร์ให้ครอบคลุมทุกการใช้งาน 3.ทำอีเซอร์วิสภายในมหาวิทยาลัยให้แล้วเสร็จ 4.จับมือพันธมิตรภายนอกร่วมกันพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และ 5.สร้างผลงานวิจัย โดยภายใน 10 ปีนี้ต้องมีผลงานนวัตกรรมด้านไอทีที่โดดเด่นออกมาให้ได้ ”
 นอกจากนี้ยังได้เริ่มทำโครงการต้นแบบ คลาวด์ คอมพิวติ้งภายในองค์กร เพื่อลดต้นทุนการใช้ทรัพยากรให้ได้มากที่สุดและกำลังร่วมมือกับบริษัทแอ๊ปเปิ้ลพัฒนาโมบายแอพพลิเคชันบนไอโฟนควบคู่แผนงานอีเซอร์วิสด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น