ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554

การจัดการ…….นวัตกรรม

  ทันที่เราได้ยินคำว่า "นวัตกรรม" เราจะนึกถึงการสร้างเทคโนโลยีใหม่ ๆ การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือ การบริการรูปแบบใหม่ จะมีใครกี่คนที่จะรู้ว่า ในทางการจัดการก็มีการสร้างนวัตกรรมเช่นเดียวกัน เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานในองค์กรธุรกิจ เรามาอ่านและทำความเข้าใจพร้อม ๆ กันดีกว่า ว่า "นวัตกรรม" มันคืออะไร
Peter Drucker: ให้ความหมายคำว่า "นวัตกรรม" ไว้ว่า "Innovation is The act of introducing something new" เป็นการสร้างสิ่งใหม่ หรือการทำให้แตกต่างจากคนอื่น โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงมาสร้างให้เป็นโอกาส และต้องมีความชัดเจน และมุ่งเน้นถึงการพัฒนา และที่สำคัญคือต้องมีการลงมือกระทำ นวัตกรรมจึงจะเกิดขึ้น
ทำไมต้องมีนวัตกรรม Michael Porter กล่าวว่า "Innovation is one step remove from today's prosperity. Innovation drives the rate of long run productivity growth an hence future competitiveness." นวัตกรรมเป็นการก้าวไปจากความมั่งคั่งในปัจจุบันก้าวหนึ่ง และนวัตกรรมจะเป็นสิ่งผลักดันให้มีการเติบโตของผลิตภัณฑ์ในระยะยาวและสร้างความสามารถในการแข่งขันในอนาคต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสาเหตุของการเกิดนวัตกรรมนอกจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในระดับมหภาคและระดับจุลภาคแล้ว การแข่งขันในเชิงธุรกิจก็เป็นปัจจัยในการสร้างหรือเกิดนวัตกรรมเพราะการสร้างนวัตกรรมถือได้ว่าเป็นจุดแข็ง และเป็นโอกาสขององค์กรธุรกิจที่จะสร้างความได้เปรียบเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งขันในอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจเดียวกัน
        
        โดยทั่วไปแล้ว นวัตกรรมสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
        - Product Innovation เป็นนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างหรือพัฒนา ผลิตภัณฑ์และบริการ (Tangible product and Intangible product)
        - Process Innovation เป็นนวัตกรรมกระบวนการ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่มองในเรื่องของการเพิ่มผลผลิต โดยจะมุ่งเน้นไปในเรื่องของความรู้ทางด้านเทคโนโลยี มาพัฒนากระบวนการผลิต
        - Organization Innovation เป็นนวัตกรรมที่เน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการและบริหารองค์กร ซึ่งจะต้อง ใช้ความรู้ความสามารถในด้านการบริหารการจัดการมาปรับปรุงโครงสร้างองค์กรใหม่

        
ซึ่งในที่นี้เราจะกล่าวถึง Organization Innovation หรือนวัตกรรมองค์กร ที่มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการหรือการบริหารองค์กร ซึ่งเป็นการนำเครื่องมือทางการจัดการที่มีอยู่ในปัจจุบันมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เช่น TQM (Total Quality Management), Six Sigma, Balance Scorecard, Benchmarking เป็นต้น
        ตัวอย่างขององค์กรในประเทศไทยที่นำแนวคิดทางการจัดการมาสร้างเป็นนวัตกรรม ในลักษณะ Organization Innovation ได้แก่ โรงพยาบาลพญาไท ที่ได้นำหลักของ Six Sigma (ซิค ซิคม่า) มาใช้ลดข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นภายในองค์กร เช่นในเรื่องของปัญหาการทำงานซ้ำซ้อนของเจ้าหน้าที่ การวางระบบการเก็บยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งผลของการนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ก็ถืออยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ หรือแม้แต่ในระบบราชการในเมืองไทย ก็มีการสร้างนวัตกรรมในการบริหารเช่นเดียวกัน ตัวอย่างที่ได้มีการปฏิบัติแล้วก็คือ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) โดยการสร้างระบบ Public Service Management Standard and Outcome (PSO) ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานสากลแห่งประเทศไทยด้านการจัดการ และผลสัมฤทธิ์ของหน่วยงานภาครัฐเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 ทั้งหมด 11 ระบบ เช่น ระบบข้อมูล ระบบการบริการประชาชน ระบบการวัดผลสัมฤทธิ์ของงานเป็นต้น หรือตัวอย่างขององค์กรต่างประเทศ ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือกรณีของบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง General Electrics (GE : จีอี อีเล็คทรอนิค) กับการนำแนวคิดของ Six Sigma มาใช้ ที่ในปัจจุบัน GE ได้กลายเป็นต้นแบบในการนำ Six Sigma มาใช้ให้กับองค์กรอื่นทั่วโลก นอกจากนี้ในธุรกิจด้านฟาสต์ฟูดอย่าง McDonald ก็ได้นำหลักการ TQM (Total Quality Management: การจัดการคุณภาพโดยรวม) มาใช้ในกระบวนการจัดเตรียมอาหาร ทำให้สามารถให้บริการอาหารที่สด รวมถึงการจัดการในด้านการบริการลูกค้า วิธีการทำอาหารโดยการสร้างมาตรฐานให้ใกล้เคียงกับเทคนิคการปรับปรุงคุณภาพ ของธุรกิจอุตสาหกรรม หรือธุรกิจบริการอย่าง Federal Express, Disney World รวมถึง เซเว่น อีเลฟเว่น ก็ยังให้ความสำคัญต่อการนำ TQM มาจัดการโดยมุ่งการจัดการฝึกอบรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงาน และการพัฒนาองค์กร นอกจากนี้ TQM ยังสามารถที่จะนำมาใช้ในธุรกิจสายการบิน และโรงแรมได้เช่นเดียวกัน ในส่วนของ Balance Scorecard (BSC: เป็นเครื่องมือ ในการแปรกลยุทธ์มาสู่การปฏิบัติ และเป็นเครื่องมือประเมินผล) ตัวอย่างเช่น บริษัท Rockwater, Apple Computer (บริษัท แอปเปิ้ล คอมพิวเตอร์), Advanced Micro Devices (AMD) ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้ใช้ BSC มาใช้ในการวัด Performance และกำหนดกลยุทธ์ หรือตัวอย่างในเมืองไทยที่ได้นำแนวคิด BSC มาใช้ คือ เซเว่น อีเลฟเว่น โดยนำมาใช้ในการวางระบบการทำงานให้มีความสอดคล้องมากขึ้น เป็นต้น
        จากตัวอย่างที่ได้ยกมา พอจะสรุปได้ว่า นวัตกรรมองค์กรหรือการนำแนวคิดทางด้านการจัดการมาใช้ในองค์กรธุรกิจ เริ่มจะเข้ามามีบทบาทในการบริหารงานองค์กรธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หลายๆ องค์กรธุรกิจพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อสร้างให้เป็นจุดแข็ง และโอกาส ที่จะสามารถจะนำมาสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน
แต่อย่างไรก็ตามในการสร้างนวัตกรรมองค์กร ใช่ว่าทุกองค์กรจะทำแล้วจะประสบความสำเร็จ สาเหตุสำคัญเนื่องมาจากพฤติกรรมที่ปิดกั้นความสามารถด้านนวัตกรรม กล่าวคือ การไม่ยอมรับหรือกลัวในสิ่งที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่องค์กรธุรกิจจะต้องจัดการก่อนที่จะดำเนินการสร้างนวัตกรรมองค์การนั้น องค์กรธุรกิจจำเป็นที่จะต้องพิจารณาในเรื่องดังต่อไปนี้
        1. ต้องเข้าใจถึงสภาพแวดล้อมโดยรวมทางธุรกิจ หรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน ซึ่งจะพิจารณาในด้านของความเหมาะสมความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง
        2. ต้องเข้าใจสภาพแวดล้อมภายในองค์กรธุรกิจว่ามีความพร้อมในการที่จะสร้างนวัตกรรมองค์กรหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเงินทุน และ ตัวบุคลากร
        3. สร้างความเข้าใจ กับทุกฝ่ายในองค์กรธุรกิจ ตั้งแต่ระดับผู้บริหารจนถึงพนักงานระดับปฏิบัติการ เพื่อสร้างแนวทางในการปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากคนบางกลุ่มที่ไม่สามารถยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
        4. นวัตกรรมที่จะทำนั้นสามารถที่จะทำได้ในความเป็นจริง และเป็นประโยชน์ต่อองค์กรธุรกิจ ไม่ใช่เป็นเพียงแต่ความคิด
ซึ่งความสำคัญของความรู้ที่ได้กล่าวมานั้น อาจถือได้ว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานในการสร้างนวัตกรรมองค์การ ซึ่งถ้านำปัจจัยพื้นฐานทั้งหมดมารวมกัน คือ การเข้าใจถึงสภาพแวดล้อมโดยรวมของธุรกิจ การเข้าใจสภาพแวดล้อมภายในขององค์กร การสร้างความเข้าใจกับบุคลากรในองค์กร และนำนวัตกรรมนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ก็จะทำให้การจัดการนวัตกรรมองค์กร สามารถที่จะกระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น